คันหามเสือ ๒

SchefUera heterophylla (Wall, ex G. Don) Harms

ชื่ออื่น ๆ
กาโบบารุ (มลายู-นราธิวาส)
ไม้พุ่มรอเลื้อย กิ่งอ่อนและช่อดอกมีขนรูปดาวใบประกอบแบบนิ้วมือสองชั้น เรียงเวียน มีใบย่อย ๓-๕ ใบ รูปรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบ ช่อกระจะ ช่อแยกแขนง หรือช่อซี่ร่มเชิงประกอบ ออกตามปลายกิ่ง ดอกเล็กมาก สีขาวนวลถึงสีเหลือง ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรี สุกสีเหลืองถึงสีส้ม เมล็ดแบนด้านข้าง

คันหามเสือชนิดนี้เป็นไม้พุ่มรอเลื้อย สูง ๓-๕ ม. กิ่งอ่อนและช่อดอกมีขนรูปดาว

 ใบประกอบแบบนิ้วมือสองชั้น เรียงเวียน หูใบ รูปลิ้น แกนกลางใบยาว ๒๐-๕๐ ซม. แกนกลางใบย่อยยาว ๑๐-๒๐ ซม. มีใบย่อย ๓-๕ ใบ รูปรี รูปไข่ หรือ รูปขอบขนาน กว้าง ๓-๑๐ ซม. ยาว ๕-๒๐ ซม. ปลายเรียวแหลม โคนสอบ ขอบเรียบหรือหยักห่าง ๆ ทางปลายใบ เส้นแขนงใบข้างละ ๓-๕ เส้น ก้านใบย่อยยาว ๑-๒ ซม.

 ช่อดอกแบบช่อกระจะ ช่อแยกแขนง หรือช่อซี่ร่มเชิงประกอบ ออกตามปลายกิ่ง ยาว ๒๐-๔๐ ซม. ก้านดอกยาว ๐.๕-๑ ซม. ดอกเล็กมาก กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด โคนหลอดด้านในเชื่อมติดกับรังไข่ กลีบดอก ๕ กลีบ แยกจากกัน สีขาวนวลถึงสีเหลือง ร่วงง่ายมีจานฐานดอก เกสรเพศผู้ ๕ เกสร รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ รูปค่อนข้างกลม มีหลายช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงรี มีสัน ๕ สัน กว้าง ๓-๔ มม. ยาวประมาณ ๕ มม. สุกสีเหลืองถึงสีส้ม เมล็ดแบนด้านข้าง

 คันหามเสือชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทางภาคใต้ พบขึ้นในป่าดิบและป่าพรุ ตามริมน้ำ และบนเขาหินปูน ที่สูงตั้งแต่ใกล้ระดับน้ำทะเลถึงประมาณ ๗๐๐ ม. ออกดอกเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม ในต่างประเทศพบที่มาเลเซียและอินโดนีเซีย.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
คันหามเสือ ๒
ชื่อวิทยาศาสตร์
SchefUera heterophylla (Wall, ex G. Don) Harms
ชื่อสกุล
SchefUera
คำระบุชนิด
heterophylla
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel
- Don, George
- Harms, Hermann August Theodor
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- Wallich, Nathaniel (1786-1854)
- Don, George (1798-1856)
- Harms, Hermann August Theodor (1870-1942)
ชื่ออื่น ๆ
กาโบบารุ (มลายู-นราธิวาส)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ผศ. ดร.จิรายุพิน จันทรประสงค์